One Answer to 993 Questions | RAUH-Welt’s Riviera Blue 993

One Answer to 993 Questions | RAUH-Welt’s Riviera Blue 993

 

หนึ่งคำตอบของเก้าร้อยเก้าสิบสามคำถาม

หน้า 10″ หลัง 13″ กว้างขนาดนี้จะเลี้ยวได้เหรอ?

ถ้าเลี้ยวได้…จะเลี้ยวได้ดีแค่ไหนกัน?

Body kit ใหญ่ขนาดนี้ แล้วยังมีล้อ Brombacher ไม่ถ่วงรถให้ช้าลงเลยเหรอ?

เครื่องของหลายๆคันก็จัดว่าเป็นเครื่องเดิม จะสนุกสู้รถแรงม้าเยอะๆได้เหรอ?

คำถามมากมายเกิดขึ้นกับหลายๆคน ทุกครั้งที่ได้เห็น Porsche ที่เป็นผลงานของช่างคนนี้ รวมทั้งเจ้าของรถเองด้วย “พี่เอ” ผู้ครอบครอง 993 RWB สีฟ้า Riviera Blue คันนี้ เคยสงสัยไม่น้อยไปกว่าพวกเราเลย การถกเถียงเกิดขึ้นมากมาย ก่อนที่เขาจะพารถคันนี้เข้าสู่โลกของ Rauh-WELT ซึ่งถ้าพี่เอไม่ได้คำตอบของคำถามเหล่านั้น เขาก็คงไม่ตัดสินใจยอมรับผลงานของนาไกซัง และ 993 RWB คันนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

_MG_9369

จุดกำเหนิดของรถพี่เอ เกิดขึ้นในปี 2012 หลังจากที่พี่ชิน Autohaus RWB พาพี่เอและทีมงาน ข้ามประเทศไปไกลเกือบ 5,000 กิโล เพื่อเข้าร่วมงานแข่ง Idler’s Game 12 ชั่วโมงที่สนาม Twin Ring Motegi ประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะให้หลายๆคนที่มีข้อสงสัย ได้สัมผัสกับประสบการณ์ของ RWB แบบเต็มที่ ซึ่งพี่เอก็เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่จะลงวิ่งด้วย ซึ่งลึกๆแล้ว ทุกคนที่ไป Idler’s Game ในวันนั้นรู้อยู่แก่ใจว่า “คำตอบที่ดีที่สุด คงไม่ได้มาจากการถกเถียงและวิจารณ์” การได้ลงไปทดลองขับครั้งนี่แหละ  คือคำตอบเดียวของคำถามทั้งหมด

_MG_8717

หลังจากที่ได้ลองขับดู ทั้ง 930, 964 และ 993 ตลอดช่วงงาน Idler คำตอบที่พี่เอได้คือ “993 นี่แหละ…ใช่” และเป็นรุ่นในใจที่จะส่งมอบให้นาไกซังลงมือ

_MG_8700

ในปีของ 993 เป็นเวลาที่ Porsche ได้พัฒนานำช่วงล่างระบบ multi-link มาใช้ และมีการแก้เพลาหลังที่กว้างขึ้นกว่า 964 จึงทำให้อาการสะบัดลดน้อยลง 993 จึงถูกลือกันว่าเป็น air-cooled รุ่นสุดท้ายที่ขับดีที่สุด ก่อนที่ Porsche จะนำ Varioram มาใช้ พี่เอเล่าว่า ตอนที่ลองทดสอบนั้น RWB ทุกคันให้ความรู้สึกมั่นคงและมีการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย  และถ้าใครพอจะรู้จักพี่เอ แค่ดูจากรถที่สะสม ก็รู้ว่าเป็นคนที่หลงไหลใน “รถแข่ง” มากกว่า “รถแต่ง” ซึ่งทำให้คำว่า performance/racing กลายมาเป็นแนวทางให้นาไกซังสร้าง RWB ของพี่เอ

_MG_8698

เมื่อ concept ของรถพี่เอถูกตั้งต้นด้วยคำว่า performance แล้ว ก็ไม่ต้องมีข้อจำกัดอะไร โป่งก็จะถูกนาไกซังตัดเย็บตามวิถีของ RWB แต่รายละเอียดต่างๆก็ยังมีให้เห็นในหลายๆจุด เริ่มที่การสลับพาร์ทรอบรถทุกชิ้นที่เป็นสีดำให้เป็น carbon fiber รวมทั้งหางหลังด้วย

_MG_8726

Brombacher สเป็กของ RWB เป็นที่เลื่องลือกันอยู่แล้วในเรื่องของความกว้าง และมีน้ำหนักไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ Brombacher เป็นล้อที่แข็งแรงมาก ปกติแล้วจะมีหน้ากว้าง 10″ และหลัง 12″, 13″, หรือกระทั่ง 14″ เมื่อกลางปีที่แล้ว เราเคยพบกับ 964 Targa ของพี่มาร์ค ที่ใช้ล้อหลัง 12″ กับซุ้มแบบเรียบ แต่ 993 มี body ที่ใหม่กว่าและกว้างกว่า จึงเลือกใช้ขนาด 13 นิ้ว

_MG_8731

ด้วยจำนวนของ RWB ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้เดี๋ยวนี้ดูความแตกต่างของแต่ละคันยากขึ้นไปด้วย แต่กับ 993 @Speed คันนี้เราจะมองความแตกต่างได้ชัดเจนกว่า เพราะนอกจากจะจัดว่าเป็น full-body RWB คือเป็นชุดเต็มที่ใส่พาร์ทครบหมดทุกส่วนแล้ว ภายในยังเพิ่มรายละเอียดอย่างพื้นและแป้นเหยียบจาก Rennline กับแผงประตูของตัว 993 RS ที่มาช่วยลดน้ำหนักอีกด้วย

_MG_8767

หลายคนตั้งคำถามว่า “หน้าตามาซะขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่ทำให้แรงๆ?” นาไกซังเป็นคนที่เชื่อว่ารถที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแรง แต่อยู่ที่ทุกๆส่วน ไม่ว่าจะทำมากี่ร้อยคัน หลายๆคันก็ไม่ได้ทำเครื่องซักเท่าไหร่นัก คันนี้คือเครื่อง M64 3.6L กำลัง 270 แรงม้า เดิมสนิท

_MG_8715

สิ่งที่ถูกปรับแต่งจนเข้าที่จริงๆคือ “ช่วงล่าง” ที่ใช้โช้ค Aragosta โดยถูกนาไกซังปรับครั้งแล้วครั้งเล่าจนลงตัว ช่วงล่างนั้นกลายมาเป็นเทคนิคที่เขาพกติดตัวมาด้วย เพราะสำหรับนาไกแล้ว นอกจากจะทำให้ทรงของรถดูดีขึ้นแล้ว ช่วงล่างยังเป็นปัจจัยหลักที่ตอบสนองสไตล์การขับขี่ มีความสำคัญเทียบเท่ากับเครื่องยนต์

_MG_8707

ทิศทางของการเล่นรถในกลุ่ม RWB ไม่ได้ต่างจากรถแต่งทั่วไป ที่เจ้าของหมั่นหาซื้อพาร์ทและอะไหล่มาใส่ เพื่อจะบ่งบอกถึงแนวทางของตัวเอง อย่างเช่น เพียงแต่ว่า RWB ไม่ได้ผลิตชุดแต่งขายส่ง เพราะว่านาไกรู้ถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ “ประสพการณ์และความสนุก” ไม่ใช่แค่คุณภาพของชุดแต่ง ฝีมือของช่าง หรือความโด่งดังของอู่

_MG_8734

การเป็นลูกค้าของ RWB ทุกคนจะมีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับนาไกซัง ทั้งก่อนซื้อและหลังซื้อ จะเรียกว่าคนเหล่านี้เป็น “เพื่อนร่วมอุดมการณ์” ก็ได้ ทุกคนต้องการแนวทางการสร้างรถที่ชัดเจน จึงปรึกษากันตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิด Porsche ที่ลงตัวกับเจ้าของมากที่สุด และนี่คือความแตกต่างที่นาไกมอบให้กับลูกค้าของ Rauh-WELT Begrif

_MG_8811

ในเย็นวันที่เราพบกับพี่เอเพื่อถ่ายรูป พวกเราได้ขอทดสอบ(นั่ง) โดยที่ให้พี่เอขับขึ้นไปบนทางด่วนแล้ววิ่งไปยาวๆ เพื่อจะได้รู้ว่าอารมณ์ของรถนั้นตอบสนองประมาณไหน

_MG_9076

ตลอดช่วงเวลาบนถนนรถวิ่งยืนพื้นอยู่แค่ 100-120 km/h ผมรู้สึกได้ว่ารถคันนี้คือรถที่ “ดี” มีแรงบิดสูง เสริมด้วยล้อและช่วงล่างที่กระชับสุดๆ จึงมีความนิ่งและให้อารมณ์สุขุม ทะยานไปได้แบบไม่ต้องพึ่งเทอร์โบหรือรอบ และเป็น Porsche ที่ไม่เก่ามาก (1994-1998) จึงไม่มีเสียงแหบกระด้างแบบตัวก่อนๆ

_MG_9142

ไม่ว่าจะมี RWB ออกมากี่คัน เราก็ไม่เคยเบื่อที่จะยลโฉมแต่ละคัน เพราะนี่คืองานฝีมือในรูปแบบของยานยนต์ ที่มีการกลั่นกรองแนวทางจากคนเพียงหนึ่งคน จนได้ผลงานที่มีน้ำหนักพอดี ระหว่างคำว่า “รูปทรง” และ “ประสิทธิภาพ” และสุดท้ายนี้ถ้าจะถามว่าวิ่งได้ดีไหม? คันนี้เป็นแชมป์ Air-Cooled ที่งาน Porsche Club Thailand ปีล่าสุด เป็นคำตอบที่ชัดเจน ไม่ว่าจะขึ้นอยู่กับ skill การขับหรือรถ เอาเป็นว่าทั้งสองปัจจัยนั้น เข้ากันได้ดีพอที่จะเข้าเส้นชัยเป็นคันแรกละกัน

ถ้าใครติดตามเรื่องราวของนาไกซังมาก่อนจะรู้ว่า กว่าจะมาเป็น Rauh-WELT นั้น มีหลายสิ่งเกิดขึ้นมาก่อนมากมาย อย่างเช่นเรื่องราวในยุคของทีมดริฟท์ Rough World กับบุคคลเบื้องหลังอย่างช่าง Nojima กับบ้านนอกเมืองของเขาที่เป็นสวรรค์ของ Corolla ซึ่งถ้าคุณได้รู้แล้ว จะยิ่งหลงไหลในความ มุ่งมั่น-ทะเยอทะยาน-ซับซ้อน-แตกต่าง-และ-ลึกซึ้ง ของวัฒนธรรมรถยนต์ในญี่ปุ่น ยิ่งค้นลึกก็ยิ่งสงสัย คุณอาจจะชอบทั้งๆที่ยังงงอยู่แบบผมก็ได้ หลายๆคนบอกว่า RWB เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้จนกว่าจะได้สัมผัสมัน เป็นหนึ่งในงานออกแบบบอดี้ที่น่าสนใจที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา

ป.ล. ผมหวังเสมอว่า ถ้าวันหนึ่งช่างคนไทยสามารถกลั่นความคิดออกมาได้แบบนี้ก็คงจะดี เพราะเราเห็นอะไรมา เราก็ทำได้แบบเขาทุกอย่าง เพราะฉะนั้นมันจะไปยากอะไร? ทำไมเราถึงไม่ได้ทำ? วัยรุ่นอย่างผมไม่รู้เหตุและผลของเรื่องนี้เลย อาจจะมีคนที่เข้าใจเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่ก็ได้ คงต้องปล่อยให้เวลาเดินต่อไป ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้ก็แค่เฝ้าดู ถ้าใครรู้ก็อย่าลืมช่วยอธิบายให้ผมฟังด้วยนะครับ

Photo by: Ao